Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อก / เว็บ

Friday, February 28, 2014

ชื่อ และสกุลจำพวกกล้วยไม้ นานาพันธุ์ (1)

ชื่อ และสกุลจำพวกกล้วยไม้ นานาพันธุ์ (1)
จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม
 ชื่อ และสกุลกล้วยไม้ นานาพันธุ์ (1)

สกุลกล้วยไม้นานาชนิด มีดังนี้ 
  1. กล้วยไม้ สกุล กุหลาบ.........(1)
  2. กล้วยไม้ สกุล เข็ม...............(1)
  3. กล้วยไม้ สกุล รองเท้านารี...(1)
  4. กล้วยไม้ สกุล หวาย............(1)
  5. กล้วยไม้ สกุล ช้าง...........(2)
  6. กล้วยไม้ สกุล แวนด้า......(2)
  7. กล้วยไม้ สกุล แคทลียา...(2)
  8. กล้วยไม้ สกุล เขากวางอ่อน (ฟาแลนนอปซีส).........(3) 
  9. กล้วยไม้ สกุล กะเรกะร่อน.........................................(3)
  10. กล้วยไม้ สกุล แมงป่อง (ที่บ้านเรียกชื่อนี้นานแล้ว)...(3)
  11. กล้วยไม้ สกุล เพชรหึง..............................................(3)
  12. กล้วยไม้ สกุล พระยาฉัททันต์...................................(3)  
  13. กล้วยไม้ สกุล ม้าวิ่ง..................(4)
  14. กล้วยไม้ สกุล เสือโคร่ง............(4)
  15. กล้วยไม้ สกุล สิงโตกลอกตา...(4)
  16. กล้วยไม้ สกุล ลิ้นมังกร.......................(5) 
  17. กล้วยไม้ สกุล กล้วยไม้ดิน หรือพิศมร...(5) 
  18. กล้วยไม้ สกุล เอื้องน้ำ........................(5) 
  19. กล้วยไม้ สกุล ออนซีเดียม...................(5) 
  20. กล้วยไม้ สกุล อะแคมเป......................(5) 
กล้วยไม้สกุลกุหลาบ
กล้วยไม้สกุลกุหลาบ เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis) สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมีดังนี้
กุหลาบกระเป๋าเปิด
กุหลาบกระเป๋าเปิดพบขึ้นอยู่ในทุกภาคของประเทศไทยและยังพบในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นกล้วยไม้ที่มีปลายปากกว้างอ้าออก ยื่นไปข้างหน้า มีเดือยดอกค่อนข้างตรง ซ่อนอยู่ใต้ปลายปาก อยู่ชิดขนานกับปลายปาก ใบยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร

กุหลาบกระเป๋าเปิดออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ช่อดอกห้อย ช่อรูปทรงกระบอก กลีบปากมี 3 แฉก เปิดกว้าง ริมแผ่นปากเป็นฝอย มีลายสีม่วงแดงแล้วจางเป็นสีขาว พื้นกลีบดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ ขนาดดอกประมาณ 2.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอม



กุหลาบกระเป๋าปิด
กุหลาบกระเป๋าปิดเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลกุหลาบที่ส่วนปลายปากแคบกว่าหู และทั้ง 2 ส่วนพับขึ้นมาปิดเส้าเกสรไว้ พบขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า อินเดีย เนปาล และภูฎาน
กุหลาบกระเป๋าปิดมีลำต้นบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ต้นห้อยย้อยลง มักแตกแขนงเป็นหลายยอด ต้นอาจยาวถึง 1 เมตรครึ่ง ใบยาวประประมาณ 15-25 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร เรียงสลับซ้ายขวา ปลายใบหยักไม่เท่ากัน ใบค่อนข้างบางไม่แข็งทื่อ ขอบใบบิดเล็กน้อย โคนใบหุ้มต้น ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและห้อยลง แต่ละช่อมีประมาณ 30 ดอก แต่ละดอกกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ปลายกลีบเป็นสีม่วงอมแดงอ่อนๆ ส่วนปลายปากเป็นสีม่วง เดือยดอกโค้งงอนขึ้นคล้ายเขาดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบและบานนานประมาณ 1-2 สัปดาห์
สำหรับกุหลาบกระเป๋าปิดที่พบทางภาคเหนือ จะมีลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย คือต้นจะตั้งตรงและบิดน้อยกว่า ใบสั้นกว่าและหนากว่า ก้านส่งช่อดอกแข็งทำให้ช่อดอกโค้งลงเพียงเล็กน้อย
  
   กุหลาบเหลืองโคราช
กุหลาบเหลืองโคราชมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบกระเป๋าเปิด แต่มีพื้นกลีบเป็นสีเหลืองแทนที่จะเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นตะไคร้ ความยาวของใบและของช่อดอกจะสั้นกว่ากุหลาบกระเป๋าเปิด ในประเทศไทยพบเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบใน ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบเหลืองโคราชออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม จุดเด่นของกุหลาบเหลืองโคราชอยู่ตรงที่มีสีเหลือง ในแต่ละต้นจะมีความผิดเพี้ยนกันไป คือ อาจมีสีเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน หรือบางต้นแทบไม่มีสีเหลืองเลย ในการคัดพันธุ์ควรเลือกสีเหลืองเข้มเป็นหลัก เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ในประเทศไทยมีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวที่ดอกมีสีเหลือง  
 กุหลาบแดง
กุหลาบแดงเป็นกุหลาบที่มีเดือยดอกยาวเห็นได้ชัดเจน เดือยงอนขึ้นและไม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ปลายปาก ใบยาวประมาณ 10-18 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใบหนา ผิวใบอาจย่นมากหรือน้อย โดยย่นตามขวางของใบ ในประเทศไทยพบที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งที่นครนายกและกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม
กุหลาบแดงออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งมีประมาณ 10 ดอกเท่านั้น ดอกมีสีม่วงแดง การจัดระเบียบดอกในช่อไม่งดงามเหมือนกล้วยไม้กุหลาบชนิดอื่น
 
กุหลาบอินทจักร 
กุหลาบอินทจักรเป็นกุหลาบเดือยยาวชนิดเดียวที่ฝาครอบอับเรณูกว้างและมนซึ่งชนิดอื่นจะแหลมเป็นปากกา ในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ และพบในพม่า ลาว และมณฑลยูนานของจีน
กุหลาบอินทจักรมีก้านช่อดอกค่อนข้างแข็ง ช่อดอกตั้ง ออกดอก 5-10 ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีลักษณะคล้ายกัน สีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง กลีบปากเป็น 3 หยัก สีขาวมีจุดสีชมพูอมม่วง ขอบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤกษภาคม จุดเด่นของกุหลาบชนิดนี้อยู่ที่เดือยยาวและงอน จนปลายเดือยชี้กลับเข้าไปหาตัวดอก อาจเรียกว่า กล้วยไม้เดือยงาม ก็ได้
 
กุหลาบมาลัยแดง 
  กุหลาบมาลัยแดงมีลักษณะดอกคล้ายกุหลาบน่าน แตกต่างกันที่ปลายปาก คือ ปากของกุหลาบน่านเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ ปลายสุดของปากป้านและหยักกลาง ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์แถบภาคเหนือ อีสาน นครนายก ชลบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบใน ประเทศเนปาล สิกขิม ภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
กุหลาบมาลัยแดงมีลำต้นแข็งแรง ใบหนาโค้ง ซ้อนกันถี่ ใบกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ
15-25 เซนติเมตร ช่อดอกโค้งห้อยยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก้านช่อมักมีสีคล้ำเกือบดำ ออกดอกเบียดชิดกันแน่นช่อ โดยทั่วไปจะมีกลีบดอกสีม่วงแดง มักจะมีสีจางจนถึงขาวที่โคนกลีบ และสีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบช่อดอกจะแตกแขนงถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์และอากาศเย็น ออกดอกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่ดอกมีสีขาวล้วนเรียกว่า มาลัยเผือก
   
  กุหลาบชมพูกระบี่ กุหลาบพวงชมพู
กุหลาบชมพูกระบี่หรือพวงชมพู พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่ และต่อมาได้พบที่จังหวัดใกล้เคียงกัน เช่นที่พังงา และเกาะต่างๆ ในบริเวณนั้น รวมทั้งที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียด้วย โดยจะพบขึ้นอยู่ตามหน้าผาริมทะเลที่ได้รับแสงแดดเต็มที่

กุหลาบชมพูกระบี่มีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เป็นกุหลาบที่ต้นมักแตกเป็นกอ ใบแคบหนา โค้งงอและห่อเป็นรูปตัววี ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวใบมีจุดประสีม่วงแดงอยู่ทั่วไปและปรากฎมากขึ้นเมื่อถูกแดดจัดหรืออากาศแห้งแล้งเช่นเดียวกับใบเข็มแดง
กุหลาบชมพูกระบี่ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ช่อดอกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อเอนขนานไปกับใบ ปลายช่อโค้งลง บางต้นพบช่อดอกแตกแขนงด้วย มีเดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้มกลางแผ่นปากมีสีแดงเข้ม ดอกคล้ายกุหลาบมาลัยแดง หรือกุหลาบน่าน จุดสังเกตที่เด่นชัดคือลักษณะของปลายปากที่แตกต่างกัน คือ กุหลาบน่านปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน กุหลาบมาลัยแดงปลายปากป้านและหยักกลาง ส่วนกุหลาบชมพูกระบี่ปลายปากกว้างและมน




กุหลาบน่าน กุหลาบเอราวัณ กุหลาบไอยรา
กุหลาบน่านเป็นพวกที่มีเดือยดอกสั้นมาก เห็นเป็นตุ่มขนาดใหญ่ มีปลายปากเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายใบหยักกลางแต่หยักไม่เท่ากัน ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเท่านั้น และพบน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบในภูฎาน อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม และมณฑลยูนนานของจีน กุหลาบน่านช่อดอกมีก้านส่งแข็ง ชี้เฉียงลง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง ถ้าต้นสมบูรณ์ ช่อดอกจะแตกแขนง ดอกเบียดกันแน่นช่อ ดอกใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง ที่ปลายกลีบมีจุม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน
_______________________________________
กล้วยไม้สกุลเข็ม
เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเซียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์
กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า เดือยดอกสำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ
กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวกเอื้องต่างๆ เช่น

 
เข็มแดง

 พบกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย มาทางประเทศพม่า จนถึงประเทศไทย แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบมีสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ โค้ง เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่ขึ้นเมื่อแล้งเพิ่มมากขึ้น ดอกสีแดงอมส้ม ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกแน่นช่อ บานทนนับเป็นสัปดาห์ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม


 เข็มแสด
พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เข็มแสดมีลำต้นไม่สูงนัก ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย เมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองส้ม ขนาดดอกโตประมาณ 1–1.5 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นช่อ ช่อหนึ่งอาจมีมากกว่า 50 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
 
เข็มม่วง
พบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่ระดับความสูงกว่าเข็มแดง เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบแบนกว้าง ปลายตัดและมีฟันแหลมๆ ไม่เท่ากันทลายฟัน ใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบสีเขียวคล้ำ ในฤดูแล้งใบจะมีจุดสีม่วงเล็กน้อย ดอกสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นเป็นสีเดียวกับดอก เดือยดอกยาวดอกโตประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรงรูป
 
เข็มหนู
เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม มีร่องลึกทางด้านบนของใบ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีดอกสีม่วงอ่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก ลักษณะของต้นและดอกไม่เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง
กล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ที่ดอกมีสีสันสดใส มีช่อดอกแข็งชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นเป็นระเบียบ สามารถให้ดอกพร้อมกันได้หลายช่อ ปลูกเลี้ยงง่าย จึงนิยมนำกล้วยไม้สกุลเข็ม (Ascocentrum) ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า (Vanda) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมแอสโคเซ็นด้า (Ascocenda) ซึ่งจะทำให้ได้กล้วยไม้ที่มีสวยงามขึ้น ออกดอกดกขึ้น ดอกบานทนและปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น
 ________________________________________
กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอก หรือที่เรียกว่า กระเป๋ามีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสรรแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง
รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น กระเปาะคล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผุ้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤษศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่าสตามิโนดสำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้
โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารี ที่สำรวจพบ ได้แก่

รองเท้านารีอินทนนท์

เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่พบเมื่อ พ.ศ. 2396 มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิต่ำ เช่น ดอยอินทนนท์ และภูเขาสูง ลักษณะของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวสม่ำเสมอทั้งใบ ไม่มีลาย โคนใบส่วนใกล้กับเหง้ามีจุดสีม่วงประปราย และค่อยๆ จางหายตรงส่วนปลายใบ ใบยาวบางและอ่อน เป็นรองเท้านารีที่มีเกสรตัวผู้ต่างจากชนิดอื่นคือ เกสรตัวผู้จับตัวรวมเป็นก้อนแข็งค่อนข้างใส มีสีเหลืองไม่เป็นยางเหนียว

 

รองเท้านารีเหลืองปราจีน

ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2402 มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ก้านดอกยาวมีขน อาจมี 2–3 ดอกบนก้านเดียวกันได้ กลีบดอกด้านบนผายออกคล้ายพัด ปลายมนสูง กลีบในกางพอประมาณ เมื่อดอกบานจะคุ้มมาข้างหน้าแลดูคล้ายดอกบานไม่เต็มที่ พื้นดอกสีเหลืองอ่อน มีประจุดเล็กๆ สีม่วงประปราย กระเปาะสีเดียวกับกลีบดอก ปลายกระเปาะค่อนข้างเรียวแหลมและงอนปลายเส้าเกสรเป็นแผ่นใหญ่

รองเท้านารีเหลืองตรัง
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2419 ขึ้นตามโขดหิน ถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะรัง จังหวัดชุมพร ลักษณะเด่น คือ ใบลาย ท้องใบสีม่วง ปลายมนคล้ายรูปลิ้น ก้านดอกสีม่วงมีขน ดอกโตสีครีมเหลือง กลีบนอกบนรูปกลม ปลายยอดแหลมเล็กน้อย กลีบในสองข้างกลมรี ปลายกลีบเว้า ประจุดลายสีน้ำตาลจางตรงโคนกลีบแล้วค่อยจางออกตอนปลาย ปากกระเปาะขาวไม่มีลาย
รองเท้านารีอ่างทอง
ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหมู่เกาะบริเวณอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ปลายใบมน ด้านบนสีเขียวคล้ำประลาย ด้านใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกยาวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กขนาดไม่สม่ำเสมอ การประจุดกระจายจากโคนกลีบ พื้นกลีบดอกสีขาว กลีบค่อนข้างหนา
 
รองเท้านารีสุขะกุล
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2507 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดเลยบนยอดภูหลวง กล้วยไม้พันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีคางกบ แต่มีรายละเอียดส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน ได้แก่ พื้นกลีบสีเขียวมีจุดสีม่วงประปรายทั่วกลีบ ปลายกลีบดอกแหลม พื้นกลีบมีสีทางสีเขียวถี่ๆ ลายทางจากโคนดอกวิ่งไปรวมที่ปลายกลีบ กลีบในกางเหยียด ขอบกลีบมีขนเช่นเดียวกับบริเวณโคนดอก
 
รองเท้านารีเหลืองกระบี่
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2435 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบเกาะพงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะพังงา และจังหวัดชุมพร ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวไม่มีลาย ใบแคบและหนา ผิวเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นรอยลึกรูปตัววี ก้านดอกแข็ง ดอกใหญ่ กลีบดอกนอกบนเป็นรูปใบโพธิ์กว้าง สอบตรงปลาย กลีบดอกสีขางไล่จากโคนกลีบ แนวกลางของกลีบเป็นสีเหลืองอมเขียวประด้วยจุดสีม่วง กลีบในสีเหลืองแคบและยาวกว่ากลีบนอก กระเปาะสีเหลืองเป็นมัน
รองเท้านารีเหลืองพังงา
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2435 ถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาหินปูนแถบฝั่งทะเล ในจังหวัดภาคใต้ ลักษณะเด่น คือ มีลักษณะคล้ายกับรองเท้านารี เหลืองตรังแต่รองเท้านารีเหลืองพังงาจะมีสีครีมออกเหลือง และที่กระเปาะมีจุดประเล็กๆ สีน้ำตาล
 
รองเท้านารีคางกบ
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2428 ถิ่นกำเนิดอยู่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เช่น ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และบริเวณอ่าวไทยตามเกาะต่างๆ ลักษณะเด่น คือ คล้ายรองเท้านารีฝาหอย แต่แตกต่างตรงที่ปลายกลีบนอกบนของรองเท้านารีคางกบเรียวยาวแหลมกว่า ริมกลีบในเป็นคลื่นหรือพับม้วน กระเปาะมีเม็ดสีดำติดอยู่

 
รองเท้าฝาหอย

ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2431 ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหุบเขาในเขตพม่าต่อชายแดนไทยตอนเหนือแถบจังหวัดลำพูน และเขตอำเภอเชียงดาว ภาคใต้ เช่น หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะช้างในจังหวัดพังงา เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ใบใหญ่ปลายมน ใบลายสีเขียวแก่และเขียวอ่อนใต้ท้องใบสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นมีขน กลีบดอกนอกกว้างมนกลมปลายกลีบคุ้มลงด้านหน้า กลีบในทั้งสองกว้างมนรูปไข่ คุ้มออกด้านหน้า กลีบนอกและกลีบในเกยกันทำให้แลดูลักษณะดอกกลมแน่น กลีบดอกสีขาวนวล ประจุดสีม่วงจากโคนกลีบ กระเปาะมนกลมคล้ายฟองไข่นก Plover (ซึ่งเป็นที่มาของรองเท้านารีฝาหอยที่เรียกว่า “Plover Orchid”)

 
รองเท้านารีขาวสตูล

ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2411 ถิ่นกำเนิดอยู่ตามเกาะแถบภาคใต้ ลักษณะเด่น คือ ใบมีลายสีเขียวคล้ำ ปลายมนพอสมควร ใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกแข็งยาวเรียวมีทั้งสีม่วงและเขียวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กปลายกลีบบานคุ้มมาข้างหน้า ดอกสีขาวเป็นมัน กลีบในประจุดสีม่วง กระเปาะรูปกลมเหมือนไข่สีเดียวกับกลีบคือ ขาว

 
รองเท้านารีสงขลา

ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีฝาหอย แต่ดอกมีสีม่วงเข้มกว่า

 
รองเท้านารีเหลืองเลย

ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2455 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบภูเขาในภาคอีสาน เช่น เลย เพชรบูรณ์ เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้ คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ใบยาว กลีบดอกด้านบนสีแดงเข้มออกน้ำตาล ขอบกลีบสีเหลืองอมเขียว ปลายกลีบบีบเข้า กลีบในเป็นสีขมพูแดง กระเปาะสีคล้ายกลีบดอก

รองเท้านารีเชียงดาว
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2483 ถิ่นกำเนิดอยู่บนดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีเมืองกาญจน์ แต่กระเปาะของรองเท้านารีเชียงดาวกว้างกว่า กลีบนอกบนสีเขียว มีเส้นเขียว
 
รองเท้านารีเมืองกาญจน์
ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2402 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดกาญจบุรีและกำแพงเพชร เป็นกล้วยไม้อากาศเกาะอยู่ตามต้นไม้มีลักษณะเด่น คือ มีกลีบในคู่บิดเป็นเกลียวเป็นสายยาวกว่ากลีบนอกประมาณสามเท่าตัว

  รองเท้านารีดอยตุง

   รองเท้านารีเหลืองอ่อน

   รองเท้านารี

  รองเท้านารีเหลืองกระบี่

  รองเท้านารี

  รองเท้านารีฝาหอย

________________________________________

กล้วยไม้สกุลหวาย

เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเซียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์
กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า เดือยดอกสำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ
กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวกเอื้องต่างๆ เช่น



เอื้องผึ้ง

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยป้อมสั้นและเบียดกันแน่น ลักษณะใบแข็งหนาสีเขียวจัด ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก้านช่อดอกอ่อนโค้งลงมา ช่อหนึ่งมีมากกว่า 20 ดอก พื้นดอกสีเหลืองอ่อน ปากสีเหลืองเข้ม ขนาดดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้  


 เอื้องม่อนไข่,  เอื้องม่อนไข่ใบมน

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างกลมหรือแบนโคนเล็กและใหญ่ด้านบน สีเขียว ลำลูกกล้วยลำหนึ่งๆ มีใบประมาณ 3–4 ใบ ลักษณะใบแหลมยาวประมาณ 10–18 เซนติเมตร ออกzดอกเป็นช่อ ช่อดอกห้อยเป็นพวงยาว ดอกแน่น กลีบดอกสีขาวกางผายออก โคนกลีบปากกระดกม้วนขึ้น ปลายแหลม ม้วนขึ้นสีเหลือง ภายในมีขนแต่ริมสันปากไม่มีขน ขนาดดอกโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร บานพร้อมกันทั้งช่อและบานนานประมาณ 1 สัปดาห์ ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน พบมากตามป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 


   เอื้องช้างน้าว, เอื้องคำตาควาย

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะกลม ต้นอ่อนเป็นเส้นสีม่วงลักษณะใบรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร เมื่อลำแก่แล้วจะทิ้งใบ แตกช่อห้อยที่ปลายลำ ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่อหนึ่งมี 5–10 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนมีเส้นเหลืองชมพู ปากรูปไข่กลมแบะแอ่นลงมีแต้มสีเลือดหมู 2 แต้ม กลีบนอกเป็นรูปใบ ภายในกลีบเป็นรูปไข่ ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้


  เอื้องมัจฉาณุ

เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยลักษณะเป็นพู ตอนบนใหญ่ตอนล่างเล็กรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยแต่ละลำมีใบ 3–4 ใบ ลักษณะใบเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ดอกเป็นช่อห้อยยาวประมาณ 15–25 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีหลายดอก ก้านช่อดอกยาว ดอกหลวม ทั้งกลีบดอกนอกและในมีสีม่วง ชมพู หรือขาว ปากสีเหลืองมีขนเป็นกำมะหยี่ ขนาดดอกโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

 
เอื้องเงินหลวง

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยตั้งตรง กลมค่อนข้างอ้วน ความยาวประมาณ 30–50 เซนติเมตร ที่กาบใบมีขนสีดำลักษณะใบรูปไข่ยาวรี ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ปลายใบมี 2 แฉกไม่เท่ากัน ออกดอกที่ยอด ช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งๆ มี 3–5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ปากสีเหลืองส้มโคนปากสอบปลายปากเว้า มีสันนูนสองสันจากโคนออกมาถึงกลางปาก ขนาดดอกโตประมาณ 10 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้
  
เอื้องเงิน

มีลักษณะลำต้นคล้ายกับเอื้องเงินหลวง แต่จะมีลำและใบสั้นกว่าก้านช่อสั้น มีดอกประมาณ 2-5 ดอก ดอกขนาด 8-9 เซนติเมตร กลีบขาว ปากสีส้มอมแดง ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน พบมากที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก 

   เอื้องเงินแดง

ลักษณะลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยทรงกระบอก ผิงมักเป็นร่อง ใบรูปขอบขนาน ปลายเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อ 2-5 ดอก ดอกกว้าง 3-4 ซม. กลีบดอกสีขาวครีม ปลายสีเหลือง โคนของกลีบปากสีส้มเข้มถึงส้มแดง กระดกห่อขึ้น ปลายแผ่เป็นแผ่นค่อนข้างยาว ขอบหยักเป็นคลื่น สีเหลืองอมส้มถึงขาว กลางกลีบเป็นสันนูน มีเส้นสีส้มเป็นริ้วตามความยาวกลีบเป็นระยะ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม พบมากทางภาคเหนือ 


   เอื้องมะลิ, แส้พระอินทร์

ออกดอกเป็นช่อ 1-2 ดอก ตามข้อต้นในส่วนที่ไม่มีใบของปลายลูกกล้วย กลีบดอกสีขาว กางผายออก โคนกลีบปากเชื่อมติดกัน หูกลีบปากกระดกขึ้นทั้งสองข้าง ปลายผายออก มีสีเหลืองที่กลางกลีบปาก ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร ดอกบานเพียงวันเดียว มีกลิ่นหอมฉุน ช่วงออกดอกไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะออกดอกช่วงที่มีอากาศร้อนแล้วมีฝนตก หรือในช่วงฤดูฝน พบตามป่าดิบทางภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

   เอื้องสายประสาท, เอื้องสายน้ำผึ้ง

เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยกลมเกือบเท่ากันทั้งลำ รูปทรงตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 30–45 เซนติเมตร ใบเล็กลงไปทางยอด ใบตัดเฉียงๆ ตามยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อใบแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อที่ทิ้งใบแล้ว ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดอกเป็นช่อๆ ละ 1–2 ดอก ตามข้อของลำลูกกล้วย ลักษณะกลีบดอกนอกและในยาวรีเท่ากัน สีม่วงอ่อน ปากรูปกรวยเป็นวงกลมสีเหลืองมะนาว ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้

   เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง, เอื้องไม้ตึง

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง โคนลำลูกกล้วยคอด ใบรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามข้อ 3-6 ดอกต่อข้อ ดอกกว้าง 5-7 เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วง มักบิดเป็นคลื่น มีเส้นสีม่วงตามความยาวกลีบ โคนกลีบปากม้วนขึ้นเป็นกลีบยาว โคนสีม่วง ปลายผายออก สีเหลืองอ่อน ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

    

    เอื้องแปรงสีฟัน

ใบรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อยาว ดอกจำนวนมาก กลีบงุ้มเข้าหากัน สีม่วงอมชมพู กลีบปากเป็นทรงกระบอก ปลายกลีบปากสีเหลือง ดอกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ช่วงออกดอกมักผลัดใบ พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้


   เอื้องสายหลวง, เอื้องสาย

ลำลูกกล้วยห้อยลงเป็นสายยาว ใบรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลม ดอกเดี่ยวออกตามข้อ ดอกกว้าง 4-5 เซนติเมตร สีม่วงอ่อน กลีบปากรูปทรงกลมปลายแหลม โคนกลีบปากม้วนเข้าหากันและมีแต้มสีม่วงเข้มทั้งสองด้าน ผิวกลีบด้านในมีขนปกคลุม ผิวด้านนอกมีขนเฉพาะขอบกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ช่วงออกดอกมักผลัดใบ พบทางภาคใต้


    เอื้องครั่ง

ลำลูกกล้วยรูปรี ค่อนข้างอวบ ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกที่ข้อ 1-3 ดอก ดอกกว้าง 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วง โคนกลีบดอกกระดกห่อขึ้น ปลายกลีบแหลมมีขนสั้นๆ ปกคลุม กลางกลีบสีม่วง ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก


   เอื้องคำ

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยรูปทรงหลายเหลี่ยมโดยจะมีตอนกลางลำโป่ง แล้วเรียวลงมาโคนและยอด ความยาวประมาณ 20–50 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะมีสีค่อนข้างเหลืองตอนบนของลำจะมีใบอยู่ 4–5 ใบ ยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ 12-25 ดอก แต่ละช่อดอกจะห่างไม่อัดแน่น ดอกมีสีส้มสด กลีบปากสีส้มมีขนาดใหญ่ โคนกระดกห่อขึ้น ปลายบานเป็นทรงกลม มีขนนุ่มปกคลุม ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น ขนาดดอกประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก 

แววมยุรา

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยยาวกว่า 60 เซนติเมตร มีผิวเป็นร่องตื้นๆ ใบรูปหอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ช่อดอกห้อยยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมี 7–15 ดอก กลีบนอกยาวรี กลีบในเป็นรูปไข่สีเหลือง กลีบปากเกือบกลมมีสีเข้มกว่ากลีบดอก ผิวมีขนนุ่มละเอียดปกคลุม ขอบกลีบหยัก กลางกลีบมีแต้มสีม่วงเข้มเกือบดำ ดอกกว้าง 3-4 เซนติเมตร ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ
 
เหลืองจันทบูร 
เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นโคนเล็กแล้วค่อยโป่งไปทางตอนปลายขนาดลำยาวมาก บางต้นยาวถึง 75 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะเป็นสีเหลืองโดยด้านข้างของลำจะมีใบอยู่ทั้งสองข้าง ออกดอกในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ช่อดอกออกตามข้อของลำ ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2–4 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รอบแรกดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อนแล้วจะค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา ปากสีเข้มกว่ากลีบ ในคอมีสีแต้มเป็นสีเลือดหมู 2 แต้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

 
  พวงหยก, หวายปม
เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยสีเขียวเหลือง ยาวประมาณ 30–70 เซนติเมตร และโป่งเป็นข้อๆ ลักษณะใบยาวรี เมื่อลำแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อๆ ละประมาณ 2-4 ดอก กลีบดอกสีม่วงอ่อนโคนกลีบสีขาว ปากสีเหลืองเข้ม ขอบปลายปากเป็นรูปหัวใจ ขนาดดอกโตประมาณ 4–6 เซนติเมตร ช่วงออกดอกมักผลัดใบเกือบทั้งหมด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม พบที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง
 
________________________________________ 



อ้างอิง: ได้จัดทำเว็บเพจเพื่อการศึกษาเรื่องกล้วยไม้ให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ข้อมูลที่นำมาประกอบในเว็บ
เพจนี้นับว่ามีประโยชน์ ขอให้ผู้ที่ได้ทำข้อมูลได้บุญกุศลโดยทั่วกัน ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยด้วย

Credit:  ภาพนำมาจาก internet ซึ่ง share กันใน Google,  Face Book และได้ถ่ายทำเองบ้าง เพื่อการศึกษาชื่อสกุลดอกกล้วยไม้นานาชนิดให้ง่ายขึ้น เป็นการสืบทอดต่อไปยังอนุชน และผู้สนใจ ให้มีความรู้พึ่งพาตนเองได้ ขอขอบคุณเจ้าของภาพ ขอให้อนุโมทนาส่วนบุญกุศล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขัง พลัง และสมปรารถนาในสิ่งที่ดีงามโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ